การปลูก ข่า ตะไคร้ การทำน้ำสกัดชีวภาพ แปรรูปข่า ตะไคร้แนบไฟล์:
ข่า ตะไคร้.jpg [ 29.38 KiB | เปิดดู 3782 ครั้ง ]
1. ผลิตข่า ตะไคร้ที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง และปลอดจากศัตรูพืช1.1 แนวทางการผลิตพืชให้ปลอดภัยและมีคุณภาพ ดังนี้
1.1.1. การคัดเลือกพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม 1) แหล่งปลูก : ควรเป็นพื้นที่ที่ใกล้แหล่งน้ำที่สะอาดและสะดวกต่อการนำมาใช้ มีการคมนาคมสะดวก
2) ลักษณะดิน : ดินควรมีความอุดมสมบูรณ์สูง มีการระบายน้ำและมีการถ่ายเทอากาศดี ค่าความเป็นกรดเป็นด่างเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช
3) แหล่งน้ำ : ควรเป็นแหล่งน้ำที่สะอาด ปลอดภัยจากสารพิษ อยู่ห่างไกลจากโรงงานอุตสาหกรรม และมีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการปลูกพืช
1.1.2. พันธุ์พืช มีการเลือกใช้พันธุ์พืชที่ต้านทานและปลอดจากเชื้อโรค หรือ เป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ
1.1.3. การจัดการดินและปุ๋ย มีการเตรียมดินอย่างถูกวิธี ควรมีการไถดะแล้วตากดิน เพื่อฆ่าเชื้อโรคและศัตรูพืชอื่นๆ ที่อยู่ในดิน แล้วไถพรวนและตากดินซ้ำอีกครั้ง เพื่อช่วยให้ดินมีโครงสร้างที่เหมาะต่อการเพาะปลูกพืชใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและช่วยในการปรับโครงสร้างดิน
1.1.4. การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน คือ การใช้วิธีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบหลายๆ วิธีผสมผสานกัน ทั้งวิธีกล วิธีการใช้สารชีวินทรีย์ สารธรรมชาติ และสารเคมีร่วมกันในการป้องกันกำจัดควบคู่กับการจัดการที่ดี
1.1.5. การควบคุมวัชพืช วัชพืชนอกจากจะเป็นพืชที่แย่งน้ำแย่งอาหารจากต้นพืชแล้ว ยังเป็นพืชอาศัยของโรคและแมลงพาหะของโรคพืชด้วย ซึ่งการควบคุมวัชพืชนั้นมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิดพืชที่ปลูก แต่การป้องกันกำจัดวัชพืชนั้นควรเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน ควรมีการไถตากดิน เพื่อช่วยให้เมล็ดวัชพืชที่งอกขึ้นแห้งตายไป
1.1.6. การเก็บผลผลิต ควรเก็บผลผลิตในระยะที่มีอายุเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพดี ทั้งในเรื่องของคุณค่าทางอาหาร รสชาติ และรูปร่างลักษณะ และการเก็บผลผลิตตลอดจนการขนย้าย ควรทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้เกิดบาดแผลและรอยช้ำต่างๆ ให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรค
การรักษาคุณภาพผลผลิตในเบื้องต้น สามารถทำได้โดยหลังเก็บผลผลิต ควรรีบนำเข้าที่ร่มและวางแผ่ออกเพื่อให้ผลผลิตได้มีการระบายความร้อน ไม่ให้เกิดความเสียหาย
1.1.7. การบันทึกข้อมูล เกษตรกรควรมีการจดบันทึกข้อมูลการปฏิบัติและปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อสามารถตรวจสอบได้ หากเกิดการผิดพลาด มีปัญหาในการผลิตหรือคุณภาพผลผลิตจะได้สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงการปฏิบัติได้ทันท่วงที
1.2. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยวิธีผสมผสาน การป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตปลอดภัยจากสารพิษ ควรใช้หลายๆ วิธีผสมผสานกัน ได้แก่
1.2.1. การป้องกันกำจัดโดยวิธีกล 1) การใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง
คือ การใช้กับดักที่มีสีเหลือง เช่น กระป๋องน้ำมันเครื่อง แผ่นพลาสติก ถุงพลาสติก ซึ่งมีสีเหลืองจะช่วยดึงดูดแมลงตัวเต็มวัยต่างๆ เข้ามา และเมื่อทากาวเหนียวไว้รอบๆ กับดักสีเหลืองก็จะทำให้แมลงตัวเต็มวัยที่ออกมาให้เห็นในเวลากลางวัน เช่น เพลี้ยไฟ แมลงวันเจาะผล แมลงวันหนอนชอนใบ ผีเสื้อชนิดต่างๆ เช่น ผีเสื้อหนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนคืบ และหนอนกินใบ บินเข้ามาติดกับดักและก็ตายไป
2) การใช้กับดักแสงไฟ
กับดักแสงไฟสามารถดักจับผีเสื้อกลางคืน เช่น ผีเสื้อหนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนคืบกะหล่ำ แสงไฟที่เหมาะสามารถล่อแมลงควรใช้แสงไฟสีม่วงหรือแสงสีน้ำทะเล แต่เกษตรกรสามารถใช้แสงไฟจากหลอดนีออนได้ ในการวางกับดักแสงไฟควรวางห่างจากพื้นดินประมาณ 150 ซม.
มีภาชนะใส่น้ำรองรับอยู่ข้างใต้ห่างจากหลอดไฟประมาณ 30 ซม.
1.2.2. การป้องกันโดยอาศัยศัตรูธรรมชาติ การใช้สารชีวินทรีย์ เป็นการควบคุมศัตรูพืชโดยใช้สิ่งมีชีวิต ได้แก่ เชื้อไวรัส เช่น Nuclear Polyhedrosis Virus (NPV) เชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis (BT) ไส้เดือนฝอย เช่น Steinernema carpocapsae Weiser เชื้อรา เช่น Trichoderma spp.หรือศัตรูธรรมชาติอื่นๆ เช่นแมลงตัวห้ำ ตัวเบียน เป็นต้น
1.2.3. การป้องกันกำจัดโดยใช้สารชีวินทรีย์ การใช้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา เป็นพืชที่มีประโยชน์ใช้เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ได้หลายชนิด เช่น หนอนใยผัก หนอนหนังเหนียวหนอนกระทู้ชนิดต่างๆ หนอนเจาะยอด หนอนชอนใบ เป็นต้น
1.2.4. การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมี การใช้สารเคมีจะในกรณีเมื่อการใช้สารชีวินทรีย์หรือสารสกัดจากพืชธรรมชาติแล้วไม่สามารถ
ยับยั้งการระบาดของศัตรูพืชได้ จึงใช้สารเคมี ควรใช้ให้ถูกต้องตามชนิดของศัตรูพืช อัตราการใช้และ
ทิ้งช่วงของระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อให้สารเคมีสลายตัว ไม่มีสารเคมีตกค้างในผลผลิต
1.3 การใช้แตนเบียนไข่ Trichogramma spp.ทำลายไข่ของผีเสื้อชนิดต่างๆ
แตนเบียนไข่ Trichogramma spp เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติที่ช่วยทำลายไข่ของผีเสื้อชนิดต่างๆ ที่เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญ เช่น ไข่ของผีเสื้อหนอนกอข้าว และไข่ของผีเสื้อหนอนเจาะสมอฝ้าย เป็นต้น
วิธีการปล่อยแตนเบียนไข่ ได้แก่
- นำตัวแตนเบียนไข่ไปปล่อยควบคุมแมลงศัตรูพืช ควรทำช่วงเวลาเย็น (หลัง 16.00 น.ไปแล้ว) โดยนำแผ่นกระดาษที่มีไข่ผีเสื้อข้าวสารที่ถูกเบียนไข่แล้ว 7 วันไปเย็บติดกับต้นพืชและควรมีสารทากันมดบริเวณรอบๆ กระดาษนี้ อัตราที่ปล่อยแตนเบียนไข่ประมาณ 20,000 – 30,000 ตัว/ไร่
- จุดที่ปล่อยควรมีระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ใน 1 ไร่ ไม่ควรเกิน 6 จุด เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อขอรับรายละเอียดและตัวอย่างแตนเบียน เพื่อนำมาทดลองปฏิบัติได้ที่ กลุ่มงานชีววิธี ส่วนบริหารศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร
1.4 การทำน้ำสกัดชีวภาพและปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพสำหรับพืชผักน้ำสกัดชีวภาพ เป็นสารละลายสีน้ำตาลข้นที่ได้จากการย่อยสลายเซลล์พืชหรือเซลล์สัตว์
โดยผ่านกระบวนการหมักของจุลินทรีย์ที่ต้องการออกซิเจนและไม่ต้องการออกซิเจน ด้วยการเติมกากน้ำตาลและน้ำตาลทราย ให้เป็นแหล่งพลังงานของจุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลาย ซึ่งมีจุลินทรีย์ในกลุ่มแบคทีเรีย กลุ่มเชื้อรา กลุ่มยีสต์ ในน้ำสกัดชีวภาพที่ผ่านกระบวนการย่อยสลายสมบูรณ์แล้ว จึงประกอบด้วยจุลินทรีย์หลายชนิดและสารประกอบจากเซลล์พืชหรือเซลล์สัตว์ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน กรดอะมิโน ธาตุอาหาร เอ็นไซม์ และฮอร์โมนพืชในปริมาณที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำน้ำสกัดชีวภาพ
วัตถุดิบทำน้ำสกัดชีวภาพ สูตรต่างๆ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำวัตถุดิบที่มีและหาง่ายในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ ได้แก่
พืชผักสด เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักกาดขาว และตำลึง ฯลฯ
ผลไม้สุก เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอ และฟักทอง ฯลฯ
ผลไม้ดิบ เช่น กล้วยน้ำว้า และมะละกอ ฯลฯ
สมุนไพรกลิ่นฉุนหรือมีรสเผ็ดเช่น สาบเสือ ขิงแก่ ข่าแก่ ตะไคร้หอม พริกไทย บอระเพ็ด กะเพรา เหง้ากระชาย ดีปลี พริก ลูกลำโพง ใบสะเดาแก่ ใบและผลเทียนทอง ฯลฯ
สมุนไพรรสขมหรือรสฝาดเช่น เปลือกต้นแค เปลือกต้นข่อย เปลือกต้นหว้า เปลือกมังคุด เปลือกเงาะ เปลือกทับทิม ใบแสยก ใบข่าไก่ ใบยูคาลิปตัส กระเทียม กานพลู ชะพลู กล้วยดิบ ลูกตะโกดิบ ลูกมะพลับดิบ และลูกหมาก ฯลฯ
พืชสมุนไพรป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ได้แก่ บอระเพ็ด ขิง พริกไทย หางไหล พริก มะกรูด ข่า กระชาย หนอนตายหยาก ดีปลี เป็นต้น
พืชสมุนไพรป้องกันกำจัดเชื่อรา ได้แก่ ทับทิม มังคุด แสยก ขาไก่ ว่านน้ำ กล้วยดิบ เงาะ ยูคาลิปตัส ชะพลู กระเทียม เป็นต้น
- น้ำสกัดชีวภาพสูตร 1 (บำรุงต้น)
องค์ประกอบ พืชผักสด : กากน้ำตาล อัตรา 3 กิโลกรัม : 1 กิโลกรัม
การใช้ประโยชน์ ใช้หมักฟางในนาข้าว อัตราประมาณ 5 ลิตร/น้ำ 200 ลิตร/ไร่ โดยปล่อยไปกับน้ำที่ไขเข้านา และฉีดพ่นข้าวตั้งแต่อายุ 15–45 วัน อัตรา 30 – 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ทุก 5 – 7 วัน สำหรับพืชผักใช้ฉีดพ่นทางใบ อัตรา 15 – 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร สลับกับให้พร้อมกับน้ำระบบสปริงเกอร์หรือรดด้วยอัตรา 30 – 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ทุก 15 – 20 วัน
- น้ำสกัดชีวภาพสูตร 2 (บำรุงดอกและผล)
องค์ประกอบ ผลไม้สุก : กากน้ำตาล อัตรา 3 กิโลกรัม : 1 กิโลกรัม
การใช้ประโยชน์ ใช้กับพืชผักกินดอก ผักกินผลและไม้ผลต่างๆ ฉีดพ่นทางใบในระยะออกดอกและติดผล อัตรา 15 – 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร สลับกับให้พร้อมกับน้ำระบบสปริงเกอร์หรือรดด้วยบัวรดน้ำ อัตรา 30 – 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ทุก 5 – 7 วัน
- น้ำสกัดชีวภาพสูตร 3 (บำรุงดอกและผล)
องค์ประกอบ พืชผักสด : ผลไม้สุก : ปลาสดหรือหอยเชอรี่ : นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต :
กากน้ำตาล อัตรา 1 กิโลกรัม : 1 กิโลกรัม : 1 กิโลกรัม : 100 ซีซี : 2 กิโลกรัม
การใช้ประโยชน์ ใช้กับพืชผักกินดอก ผักกินผล พืชไร่ ไม้ผล ในระยะออกดอกและติดผล และใช้กับข้าวอายุ 45 วัน จนถึงระยะออกรวง ฉีดพ่นทางใบ อัตรา 30 – 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ทุก 5 – 7 วัน
- น้ำสกัดชีวภาพสูตร 4 (บำรุงดอกและผล)
องค์ประกอบ พืชผักสด : ผลไม้ดิบ : ผลไม้สุก : ปลาสดหรือหอยเชอรี่ : เหง้ากล้วย : กากน้ำตาล อัตรา 5 กิโลกรัม : 1 กิโลกรัม : 1 กิโลกรัม : 1 กิโลกรัม : 1 กิโลกรัม : 3 กิโลกรัม
การใช้ประโยชน์ ใช้กับพืชผักกินดอก ผักกินผล พืชไร่ ไม้ผล ในระยะออกดอกและติดผล โดยฉีดพ่นทางใบหรือรดลงดินรอบบริเวณโคนต้น อัตรา 30 – 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ทุก 5 – 7 วัน และใช้กับข้าวอายุ 45 วัน จนถึงระยะออกรวง ฉีดพ่นในอัตราเดียวกัน
- น้ำสกัดชีวภาพปลาสดหรือหอยเชอรี่ (บำรุงต้น)
องค์ประกอบ ปลาสดหรือหอยเชอรี่ : กากน้ำตาล อัตรา 1 กิโลกรัม : 1 กิโลกรัม
การใช้ประโยชน์ ใช้กับพืชผักและไม้ผล บำรุงต้นก่อนออกดอกฉีดพ่นทางใบหรือรดลงดินรอบบริเวณโคนต้น อัตรา 30 – 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ทุก 5 – 7 วัน
- น้ำสกัดชีวภาพถั่วเหลือง (บำรุงต้น ดอกและผล)
องค์ประกอบ เมล็ดถั่วเหลือง : กากน้ำตาล : น้ำสะอาด : หัวเชื้อจุลินทรีย์ อัตรา 3 กิโลกรัม : 3 กิโลกรัม : 10 ลิตร : 2 ลิตร
การใช้ประโยชน์ ใช้กับพืชผักและไม้ผลได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ฉีดพ่นทางใบหรือรดลงดินรอบบริเวณโคนต้น อัตรา 30 – 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ทุก 5 – 7 วัน
- น้ำสกัดชีวภาพนมสด (บำรุงต้น ดอกและผล)
องค์ประกอบ นมสด : กากน้ำตาล : น้ำสะอาด : หัวเชื้อจุลินทรีย์ อัตรา 10 ลิตร : 3 กิโลกรัม : 5 ลิตร : 2 ลิตร
การใช้ประโยชน์ ใช้กับพืชผักและไม้ผลได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ฉีดพ่นทางใบหรือรดลงดินรอบบริเวณโคนต้น อัตรา 30 – 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ทุก 5 – 7 วัน
- น้ำสกัดสมุนไพรป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช
องค์ประกอบ สมุนไพรกลิ่นฉุนหรือมีรสเผ็ด : หางไหล : หนอนตายหยาก : ยาเส้น : เหล้าขาว : น้ำส้มสายชู : กากน้ำตาล อัตรา 3 กิโลกรัม : 3 กิโลกรัม : 3 กิโลกรัม : 0.5 กิโลกรัม : 750 ซีซี (1ขวด) : 250 ซีซี : 3 กิโลกรัม
การใช้ประโยชน์ ใช้กับพืชผักไม้ผล และพืชไร่ ฉีดพ่นอัตรา 30 – 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร และใช้กับข้าว ฉีดพ่นหรือปล่อยให้ไหลไปกับน้ำที่ไขเข้านา ในอัตราเดียวกัน
- น้ำสกัดสมุนไพรป้องกันกำจัดเชื้อรา
องค์ประกอบ สมุนไพรรสขมหรือมีรสฝาด : กากน้ำตาล : น้ำสะอาด อัตรา 3 กิโลกรัม : 1 กิโลกรัม : เติมจนท่วมสมุนไพร
การใช้ประโยชน์ ใช้กับพืชผักไม้ผล และพืชไร่ ฉีดพ่นอัตรา 30 – 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร และใช้กับข้าว ฉีดพ่นหรือปล่อยให้ไหลไปกับน้ำที่ไขเข้านา ในอัตราเดียวกัน